ยินดีต้อนรับสู่บล็อกของฉัน

หน่วยที่ 1

เทคโนโลยีของการสอน (Technologies  of Instruction) มีความหมายแตกต่างกันเล็กน้อยกับเทคโนโลยีการสอน  (Instructional  Technology)  ดังนี้  คือ
                เทคโนโลยีของการสอน (Technologies  of Instruction) หมายถึง  การจัดการออกแบบอย่างมีระบบของกิจกรรมการเรียนการสอนที่เฉพาะเจาะจงไว้  เป็นการเน้นกระบวนการสอน
                เทคโนโลยีการสอน  (Instructional  Technology) หมายถึง การประยุกต์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์มาใช้กับการเรียนการสอน
                ดังความหมายที่ให้ไว้นี้จะเห็นได้ว่า  เทคโนโลยีการสอนนั้นจะมีรูปแบบของการเรียนการสอนที่ออกแบบไว้อย่างเชื่อถือได้ว่าเป็นการสอนที่มีประสิทธิภาพ  โดยใช้หลักการด้านวิทยาศาสตร์ของการเรียนรู้ของมนุษย์  ซึ่งรูปแบบนั้นมีมากมาย  แต่    ที่นี้จะเสนอเพียง 6 รูปแบบ  คือ
1.                บทเรียนโปรแกรม  (Programmed  Instruction)
2.                โปรมแกรมการสอน  (Programmed  Tutoring)
3.                การสอนระบุรายบุคคล  (Personalized  System  of  Instruction)
4.                 ระบบการสอนด้วยเทปเสียงควบคุม  (Audio-Tutorial  Systems)
5.                เกมและสถานการณ์จำลอง  (Games  and  Simulation)
6.                คอมพิวเตอร์ช่วยสอน  (Computer-Assisted  Instruction)
รูปการเรียนการสอนแบบที่ 1-4 และแบบที่ 6 เหมาะสำหรับการเรียนด้วยตัวเอง  ส่วนแบบที่ 5 คงต้องเรียนเปกลุ่ม
รูปแบบที่ 5 และ 6 จะกล่าวรายละเอียดในเฉพาะบทต่อไปนี้
                รากฐานของเทคโนโลยีการสอนคงมาจากพื้นมโนทัศน์ของทฤษฎีเสริมแรงของสกินเนอร์  ซึ่งสกินเนอร์เชื่อว่า  การเสริมแรงไม่ว่าจะเป็นสิ่งของหรือเหตุการณ์จะมีแนวโน้มในการเพิ่มพฤติกรรมที่จะเกิดขึ้นซ้ำอีก   สกินเนอร์ได้ทดลองทฤษฎีเสริมแรงของเขากับนกพิราบและเขาได้เอามโนทัศน์จากการทดลองของเขาไปสู่การเรียนรู้ของมนุษย์  โดยได้รวมเอาองค์ประกอบอีกอันหนึ่งเข้าไปในกฎเกณฑ์ของเขา  นั่นคือ  การเสนอปัญญาหรือสื่อการสอนแก่ผู้เรียน  ซึ่งสกินเนอณืเชื่อว่าเพื่อให้ผู้เรียนได้มีปฏิกิริยาตอบสนอง  และเมื่อเป็นที่พอใจก็ให้การเสริมแรง  ต่อมาปัญหาก็คือ  สิ่งเร้า(Stimulus) นั่นเอง  และการตอบสนองก็ควรเป็นแบบเปิดเผย  (Overt  response)
                สกินเนอร์พบว่า  การตอบสนองอย่างเปิดเผย  และการเสริมแรงต่อผู้เรียนได้ทั่วถึงทุกคนนั้น  ทำในห้องเรียนปกติได้ยาก  เพราะผู้สอนไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง  สกินเนอร์จึงได้นำเสนอแนวการสอนที่เรียกว่าบทเรียนโปรแกรม

บทเรียนโปรแกรม  (Programmed  Instruction)
            แต่เดิมนั้น  บทเรียนโปรแกรมใช้ในความหมายของการนำเสนอสิ่งพิมพ์ในการเรียน  เพื่อให้ผู้เรียนเรียนแบบเอกัตบุคคล  และในปี ค.ศ. 1954 สกินเนอร์ได้นำเอาอุปกรณ์การเรียนที่เป็นกล่องเล็กๆ ที่เจาะเป็นหน้าต่างอยู่ข้างบน  ซึ่งจะปรากฏเนื้อหาบนกระดาษที่ม้วนรอนแกนหมุน ผู้เรียนจะเลือกคำตอบหลังเนื้อหานั้น  ถ้าเลือกคำตอบถูก  กระดาษก็จะม้วนไปสู่เนื้อหาถัดไป
                ต่อมาได้มีการนำเอาทฤษฎีเสริมแรงมาใช้  โดยให้การเสริมแรงเป็นคำตอบถูกต้องหลังคำถาม ต่อมามีการพัฒนาเครื่องมือที่เรียกว่า เครื่องช่วยสอน (Teaching Machine) และหลังจากเครื่องช่วยสอนได้ลดความนิยมลง บทเรียนโปรแกรมก็ถูกจัดทำมาในรูปแบบของหนังสือ โดยการแบ่งเนื้อหาออกเป็นกรอบเรื่องย่อยๆและคำตอบที่ถูกต้องจะอยู่ในหน้าถัดไปจากเนื้อเรื่อง ต่อมาก็จัดทำโดยให้กรอบเรื่องและคำตอบอยู่หน้าเดียวกัน แต่คำตอบที่ถูกต้องจะต้องอยู่ด้านซ้ายมือของกรอบเรื่องถัดไป ในการศึกษาด้วยตนเอง จึงต้องมีแผ่นกระดาษปิดเรื่องถัดไปและคำตอบที่ถูกต้องไว้ก่อน และค่อยๆ เลื่อนกระดาษปิดไปเรื่อยๆ โดยอ่านเรื่องและลองตอบคำถามดูแล้วจึงค่อยเลื่อนกรดาษดูคำตอบ
                ต่อมาในปี ค.ศ. 1960 กว่าๆ ได้มีหลักเกณฑ์สำหรับบทเรียนโปรแกรม ซึ่ง Wilbur Schramm  สรุปไว้ดังนี้
                1. จัดเนื้อหาของสิ่งเร้าไว้เป็นลำดับ
                2. ให้ผู้เรียนตอบสนองในแนวทางที่เจาะจงไว้
                3. การตอบสนองของผู้เรียนนั้นมีการเสริมแรงโดยทันทีทันใด จะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่เรียกว่า Knowledge of Result
                4. ให้ผู้เรียนได้เรียนเพิ่มขึ้นทีละน้อยเป็นขั้นๆ ที่เรียกว่า small steps
                5. การให้ผู้เรียนเป็นขั้นน้อยๆ จะทำให้ความผิดพลาดมีน้อย
                6. จากสิ่งที่ผู้เรียนตอบสนองได้ถูกต้อง จะทำให้ผู้เรียนตอบสนองได้ถูกต้องมากขึ้น เป็นการนำไปสู่ความสำเร็จตามจุดมุ่งหมาย
                อย่างไรก็ตาม ผู้เรียนบางคนอาจเรียนได้ดีกว่า จากการเรียนขั้นใหญ่ๆ (Large step) มากกว่าขั้นเล็กๆ (Small step) และการได้ Knowledge of  results  อาจช้าลงโดยไม่ต้องเกิดขึ้นทันทีทันใด
                จากผลที่ได้รับต่างกัน ทำให้ Norman  Crowder  ได้เสนอโปรมแกรมที่เรียกว่า “Intrinsic  Programming” เป็นการเสนอเนื้อหาจำนวนมาก และตามด้วยคำถามแบบปรนัยเป็นชุด ซึ่งประยุกต์เอาข้อเท็จจริงและหลักการไว้ และต่อมา Crowder ก็ได้เสนอบทเรียนโปรแกรมแบบที่เรียกว่า แบบสาขา(Branching Program) ซึ่งแบบเดิมของ Skinner เรียกว่าเป็นแบบเส้นตรง (Linear Program)
                เมื่อไม่นานมานี้ แนวคิดแบบบทเรียนโปรแกรมก็ได้มีการแตกความคิดออกไปหลายรูปแบบ เช่น การเรียนแบบโปรแกรมการสอน (Programmed Tutoring) การสอนแบบรายบุคคล (Personalized System of Instruction) และคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer-Assisted Instruction) เราอาจนำบทเรียนโปรแกรมมาใช้ทั้งวิชาตลอดภาคเรียน หรือเพียงหน่วยเล็กของแต่ละวิชา บทเรียนโปรแกรมอาจใช้เพื่อสอนสำหรับผู้เรียนที่อ่อน หรือเพิ่มความรู้มากขึ้นสำหรับผู้ที่เรียนเก่ง ซึ่งจะเป็นการช่วยผู้สอนทั้งนี้เพราะผู้สอนไม่สามารถที่จะสอนรายบุคคลได้ทั่วทุกคน ผู้เรียนสามารถที่จะเรียนบทเรียนโปรแกรมได้ด้วนตัวเอง และเรียนไปมากน้อยตามความสามารถของตน นอกจากนั้น บทเรียนโปรแกรมยังช่วยให้ผู้เรียนที่ขาดเรียนไปได้เรียนด้วยตนเอง เพื่อติดตามเนื้อหาวิชาที่ผู้อื่นในชั้นเรียนที่เรียนไปก่อนแล้วได้ทัน
                บทเรียนโปรแกรมจะมีราคาแพงกว่าตำราเรียนอื่นๆ โดยทั่วไป ทั้งนี้เพราะการจัดทำต้องใช้เวลาและความพยายามมากกว่า แต่ก็คงได้ผลคุ้มค่าต่อการลงทุน การใช้บทเรียนโปรแกรมนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นการเรียนลำพังคนเดียว เราอาจจัดให้มีกิจกรรมกลุ่มเป็นการเสริมได้
การใช้บทเรียนโปรแกรม
            บทเรียนโปรแกรมนั้นเป็นการออกแบบให้ผู้เรียนเป็นจุดศูนย์กลาง ดังนั้นจึงมุ่งไปที่ผู้เรียนมากกว่าผู้สอน ผู้ออกแบบบทเรียนโปรแกรมและผู้สอนจึงต้องจัดสภาพการเรียนให้ผู้เรียนได้บรรลุจุดมุ่งหมายตามที่วางไว้ ก่อนอื่น ผู้สอนก็ต้องคุ้นเคยกับการใช้บทเรียนโปรแกรมเป็นอย่างดีก่อนนำเอาบทเรียนนั้นไปใช้จริง ซึ่งจะทำให้ผู้สอนสามารถช่วยผู้เรียนได้เป็นอย่างดี และยังบูรณาการบทเรียนโปรแกรมข้ากับกิจกรรมการเรียนการสอนแบบอื่น เช่น การบรรยาย หรืออภิปรายได้ เป็นต้น
                ก่อนเริ่มเรียนด้วยบทเรียนโปรแกรมในครั้งแรก ผู้สอนควรอธิบายให้ผู้เรียนได้เข้าใจถึงวิธีใช้บทเรียนโปรแกรม เช่น ควรเขียนตอบไว้ในเล่ม หรือแยกต่างหากจากกระดาษเขียนตอบ และควรอธิบายให้ผู้เรียนทราบว่าคำถามในบทเรียนโปรแกรมนั้นไม่ใช่ข้อทดสอบ ดังนั้น ผู้เรียนไม่ควรจะกลัวว่าจะตอบผิดเพราะไม่เกี่ยวกับการให้คะแนนหรือให้เกรดแต่อย่างใด ถ้าผู้เรียนตอบผิด โปรแกรมก็จะช่วยให้คำตอบที่ถูกต้อง บทเรียนโปรแกรมนั้นมีไว้เพื่อการเรียน ไม่ใช่การสอบ
                ผู้เรียนควรเรียนไปได้ช้าหรือเร็วตามความสามารถของตนเอง ไม่ควรจะเร่งรัดหรือถ่วงให้ช้าโดยผู้สอน และควรกระตุ้นให้ผู้เรียนถามได้ถ้ามีข้อสงสัย เพราะข้อสงสัยอาจเกิดจากความกำกวมหรือผิดพลาดของบทเรียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขบทเรียนได้ดีต่อไป
                อีกประการหนึ่ง ควรมีการย้ำให้ผู้เรียนตระหนังถึงความซื่อสัตย์ต่อตนเองโดยไม่แอบดูข้อสอบก่อนควรได้คิดและตอบคำถามด้วยตัวเองให้เรียบร้อยก่อนที่จะดูคำตอบ การแอบดูคำตอบก่อนนั้นจะทำให้ผู้เรียนไม่ได้อะไรจากการใช้บทเรียนโปรแกรมเลย เพราะผู้เรียนจะเสียโอกาสของการเรียนไป


ที่มา
ผศ. ดร. วารินทร์ รัศมีพรหม.สื่อการสอน เทคโนโลยีการศึกษาและการสอนร่วมสมัย:พิมพ์ที่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด, ธันวาคม 2531.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น